เมาแล้วขับ ฤทธิ์แอลกอฮอล์ฆ่าคนอื่นได้

เมาแล้วขับ ฤทธิ์แอลกอฮอล์ฆ่าคนอื่นได้

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นสิ่งมึนเมาที่ไม่ควรดื่มเมื่อต้องขับรถ เพราะทำให้ความสามารถในการขับขี่ลดลง จนอาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน อาจถึงชีวิตต่อตัวเองและผู้อื่นบนท้องถนนได้ คุณคงไม่อยากขึ้นชื่อว่าเป็นฆาตกรขับรถชนคนตาย เพราะเมาแล้วขับ ใช่ไหม??

รู้หรือไม่ฤทธิ์แอลกอฮอล์ฆ่าคนอื่นได้

แอลกอฮอล์เป็นของเหลวในเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดอาการมึนเมา เครื่องดื่มที่แอลกอฮอล์ผสม เช่น เบียร์ วิสกี้ เหล้า บรั่นดี จะมีปริมาณเอธิลแอลกอฮอล์ต่างกัน แอลกอฮอล์ที่มีในเครื่องดื่มมึนเมาเหล่านั้นมาจากการแปรรูปพืชประเภทแป้งและน้ำตาล เช่น อ้อย ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่ละประเภทมีปริมาณแอลกอฮอล์และกรรมวิธีต่างกัน โดยเบียร์จะใช้ข้าวบาร์เลย์งอกหมักโดยไม่ผ่านการกลั่น มีปริมาณแอลกอฮอล์น้อยเพียงแค่ 4-6% ส่วนประเภทสุรา เช่น วิสกี้ วอดก้า บรั่นดี จะมีปริมาณแอลกอฮอล์สูงประมาณ 40-60% การออกฤทธิ์ของแอลกอฮอล์เมื่อดื่มเข้าไปจะออกฤทธิ์กดประสาท ถือเป็นเครื่องดื่มที่มีผลเสียต่อร่างกายและจิตใจ เป็นการเสพติดชนิดหนึ่งหากผู้ดื่มไม่สามารถควบคุมปริมาณการดื่มได้ ผู้ดื่มจะกลายเป็นผู้เสพติดแอลกอฮอล์ ต้องเพิ่มปริมาณการดื่มทุกๆวันโดยขาดไม่ได้

ฤทธิ์แอลกอฮอล์ส่งผลร้ายแรงได้มหาศาล เมื่อเทียบกับยาบ้าหากผู้ดื่มไม่สามารถควบคุมสติได้ ก็ไม่ต่างจากคนเสพยานั้นเอง เพียงชั่ววูบที่คนดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากๆจะไม่สามารถควบคุมสติได้ อาจพลาดพลั้งทำให้เกิดอุบัติเหตุถึงชีวิต เมื่อร่างกายได้รับแอลกอฮอล์ สารเหล้านั้นจะเข้าสู่ตับ เอนไซม์ในตัวจะเปลี่ยนแอลกอฮอล์เป็นสารใหม่ที่มีชื่อว่า “อะเซ็ตทัลดีไฮด์” แล้วเปลี่ยนต่อไปเป็น “อะซิเทต” จากนั้นสารนี้จะเคลื่อนไปยังสมองในต่อมควบคุมน้ำตาลและเกลือ จนถึงอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย แรกๆที่ดื่มทำให้รู้สึกว่ามีความสุข สมองโล่งสบาย แต่ผ่านไปสักระยะทุกอย่างจะเปลี่ยนเป็นความรู้สึกทรมาน เหมือนร่างกายถูกบีบ เคลื่อนไหวโซเซ ลิ้นแข็ง พูดจาไม่รู้ความ ตาลาย หน้าแดง หนักสุดถึงขั้นความจำเสื่อมไปชั่วขณะ ถ้าหากยังดื่มอีกเรื่อย ๆ จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และอาการอื่น ๆ จนร่างกายเสียการควบคุมไปได้เลย

แน่นอนว่าถ้าหากดื่มหนักถึงขั้นไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวได้ แต่ยังฝืนขับยานพาหนะบนท้องถนน จึงทำให้การทรงตัวหลังพวงมาลัยเป็นไปได้แย่ ขับรถส่ายไปมา อาจเหยียบคันเร่งแบบไม่รู้สึกตัว ผลที่ตามมาคือเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงต่อชีวิตได้

ดื่มแล้วขับเป็นภัยต่อสังคม

ดื่มแล้วขับเป็นบุคคลที่น่ากลัวที่สุดบนท้องถนน ผู้ขับขี่ที่มีแอลกอฮอล์ในร่างกายจึงเปรียบเสมือนฆาตรกรที่พรากชีวิตเหยื่อผู้บริสุทธิ์บนถนนให้หมดลมหายใจได้ บางคนต้องกลายเป็นผู้พิการ บางคนต้องกลายเป็นเด็กกำพร้าพ่อแม่ นี้คือผลกระทำอันโหดร้ายจากฤทธิ์น้ำเมา ที่ไม่มีใครอยากเห็นหรืออยากเป็น

สาเหตุการตายบนท้องถนนเพราะฤทธิ์น้ำเมามีแต่เพิ่มจำนวนผู้สูญเสียมากขึ้น เมื่อมองย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีก่อน พบว่าแต่ละปีคนไทยบาดเจ็บจากอุบัติจราจรมากถึง 50,718 ราย เสียชีวิต 16,727 ราย และร้อยละกว่า 60 ของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตมาจากสาเหตุเมาแล้วขับ สร้างความสูญเสียให้กับสังคมอย่างมาก และเมื่อเฉลี่ยตัวเลขออกมาพบว่า ผู้ประสบอุบัติเหตุจราจรเข้าห้องฉุกเฉินชั่วโมงละ 6 คน มียอดเสียชีวิตอย่างน้อยชั่วโมงละ 2 คน เมื่อเปรียบเทียบจำนวนผู้เสียชีวิตจากสงครามอ่าวเปอร์เซียยังน้อยกว่าจำนวนคนไทยที่เสียชีวิตจากสาเหตุเมาแล้วขับ ทั้ง ๆ ที่เป็นเพียงการขับขี่สัญจรเท่านั้น แต่ร้ายแรงยิ่งกว่าสนามรบในสงครามเสียอีก

แม้ว่ามูลนิธิเมาไม่ขับถือกำเนิดเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ในปี 2538 เพื่อรณรงค์ไม่ให้ผู้เมาสุราขับขี่ยานพาหะ และใช้ปฏิบัติเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แต่ก็ยังไม่สามารถลดอุบัติเหตุให้เป็นศูนย์ลงได้ เพราะทุกปีสาเหตุตายบนท้องถนน ส่วนหนึ่งมาจากผู้ขับขี่ไม่ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับ ที่ระบุไว้ว่าห้ามขับขี่รถเมื่อดื่มแอลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์  ก็ยังพบว่ามีผู้ฝ่าฝืนปฏิบัติมาตลอดจึงทำให้หลายคนบนท้องถนนต้องเป็นเหยื่อเมาแล้วขับอย่างน่าหดหู่

แล้วดื่มยังไงให้ปลอดภัย ไม่เกินกฎหมายกำหนด

คงเป็นเรื่องยากสำหรับบางคน ที่ปฏิเสธเพื่อนไม่เป็น อย่างนั้นมาดูดีกว่าว่าดื่มยังไงไม่เกินกฎหมายกำหนด ที่ระบุว่าต้องไม่เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ในร่างกาย จึงไม่ขับรถชนคน ไม่เมา ไม่ขาดสติ

  1. สุรา ปริมาณแอลกอฮอล์ไม่เกิน 90 ซีซี เมื่อดื่มปริมาณ 1 ฝา ต้องไม่เกิน 6 ครั้ง
  2. เบียร์ ไม่เกิน 2 กระป๋อง หรือไม่เกิน 2 ขวดเล็ก
  3. เบียร์ไลท์ ไม่เกิน 4 กระป๋องหรือไม่เกิน 4 ขวดเล็ก
  4. ไวน์ ปริมาณต่อแก้ว 80 ซีซี ต้องไม่เกิน 2 แก้ว

ปริมาณแอลกอฮอล์ดังกล่าว หากขับรถภายใน 1 ชั่วโมงหลังดื่ม ปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายจะไม่อยู่ในระดับที่กฎหมายกำหนด และอีกวิธีคือควรหยุดดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงก่อนขับรถจะดีกว่า พร้อมกับดื่มน้ำตามมาก ๆ เพื่อให้แอลกอฮอล์ถูกขับถ่ายมาทางปัสสาวะ ให้ร่างกายมีแอลกอฮอล์น้อยลง ทั้งนี้ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หลายชนิดรวมกัน จะทำให้ร่างกายน็อกและสับสนได้เพราะร่างกายมีแอลกอฮอล์สะสมเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

ทางที่ดีหากรู้ตัวว่าเมามากอย่าขับรถเอง ควรให้เพื่อนที่ไม่ดื่มขับแทน หรือเรียกแท็กซี่กลับจะดีกว่า เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ หากทุกคนปฏิบัติก็ทำให้อุบัติกลายเป็นศูนย์ได้แล้ว